วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ใช้น้ำหมักชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิตในสวนยางพาราที่เปิดกรีดแล้วภูมิปัญญาชาวบ้านจาก ลุงสุริยา เพชรเกษม


ใช้น้ำหมักชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิตในสวนยางพาราที่เปิดกรีดแล้วภูมิปัญญาชาวบ้านจาก ลุงสุริยา เพชรเกษม ๔๖/๒หมู่๔ ตำบลท่านา อำเภอกะปง


ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจหลักอันดับ ๑ ของจังหวัดพังงา มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด จำนวน ๘๐๕,๑๒๔ ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว จำนวน ๖๒๔,๓๑๗ ไร่ ปัจจุบันการทำสวนยางพารามีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก เนื่องจากปุ๋ยเคมีราคาแพง เกษตรกรรายย่อยไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะซื้อปุ๋ยเคมีใส่ยางพาราให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเกษตรกร ทำให้ได้รับผลผลิตตกต่ำ รายได้ลดลง สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก แต่มีเกษตรกรหัวไวใจสู้ที่ไม่ยอมแพ้ คิดค้นวิธีการที่จะลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของปุ๋ยเคมีโดยหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพแทน

ลุงสุริยา เพชรเกษม อยู่บ้านเลขที่ ๔๖/๒ หมู่ที่ ๔ ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เป็นเกษตรกรหัวไวใจสู้ ซึ่งได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย ทำการเกษตรไร่นาสวนผสม โดยการเลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ผลและยางพารา ได้ตัดสินใจเลิกใช้ปุ๋ยเคมี มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน โดยยึดหลักการทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ต้นทุน ๒,๐๐๐ บาท/ พื้นที่ปลูกยางพารา ๑๐ ไร่ ผลผลิตที่ได้รับ ๒๖ กิโลกรัม/วัน

สำหรับสูตรน้ำหมักชีวภาพที่ใช้บำรุงต้นยางพารา ประกอบด้วย ๑. กล้วย จำนวน ๑ กิโลกรัม ราคา ๕ บาท ๒. ปลา จำนวน ๑ กิโลกรัม ราคา ๓๐ บาท ๓. ฟักทอง จำนวน ๑ กิโลกรัม ราคา ๒๐ บาท ๔. มะละกอ จำนวน ๑ กิโลกรัม ราคา ๒๐ บาท ๕. กากน้ำตาล จำนวน ๑ กิโลกรัม ราคา ๕ บาท ๖. สารเร่ง พด.๒ จำนวน ๑ ซอง ๗. น้ำ จำนวน ๑๐ ลิตร

รวมต้นทุนการผลิต ๘๐ บาท ใช้เวลาหมัก จำนวน ๒๑ วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้น ๑๐ ลิตรผสมน้ำใช้กับสวนยางพาราได้ ๒,๐๐๐ ลิตร

ลุงสุริยา เพชรเกษม เล่าว่า เคล็ดลับในการทำน้ำหมักชีวภาพให้ได้ผลดี ๑. ควรเลือกใช้เศษผัก ผลไม้ที่ยังไม่เน่าเสีย สับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ภาชนะที่มีปากกว้าง เช่นถังพลาสติกหรือโอ่ง หากมีน้ำหมักชีวภาพอยู่แล้วให้เทผสมลงไปแล้วลดปริมาณกากน้ำตาลลง ปิดฝาภาชนะทิ้งไว้จนได้เป็นน้ำหมักชีวภาพ จากนั้นกรอกใส่ขวด ปิดฝาให้สนิทรอการใช้งานต่อไป ๒. ในระหว่างการหมักห้ามปิดฝาภาชนะจนแน่นสนิท เพราะอาจทำให้ระเบิดได้ เนื่องจากระหว่างการหมักจะทำให้เกิดแก๊สต่าง ๆ ขึ้น เช่น ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ก๊าซมีเทน เป็นต้น ๓. ไม่ควรเลือกพืชจำพวกเปลือกส้ม ใช้ทำน้ำหมักชีวภาพเพราะมีน้ำมันที่ผิวเปลือกส้มจะทำให้จุลินทรีย์ไม่ย่อยสลาย การทำน้ำหมักชีวภาพไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน ที่สำคัญน้ำหมักชีวภาพไม่มีสูตรตายตัว เราสามารถทดลองปรับเปลี่ยนวัตถุดิบให้เหมาะสมกับต้นไม้ของเรา เพราะสภาพแวดล้อมแต่ละท้องถิ่น มีความแตกต่างกัน ต้นไม้แต่ละท้องถิ่นก็ต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน น้ำหมักชีวภาพจึงจำเป็นต้องมีความแตกต่างกันตามท้องถิ่น ส่วน วิธีใช้ ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้น ๑ ลิตร ผสมน้ำ ๒๐๐ ลิตร ใส่ยางพาราได้ ๑ ไร่ วิธีการใช้น้ำหมักใส่แปลงยางพาราที่เปิดกรีดแล้ว ใช้น้ำหมักเข้มข้นใส่ถ้วยรับน้ำยาง เมื่อไป กรีดครั้งต่อไปก็จะเทน้ำหมักที่ผสมน้ำแล้ว ในถ้วยรับน้ำยางลงในแปลงยางพาราโดยไม่ต้องจ้างแรงงานการใส่น้ำหมักชีวภาพในสวนยางพารา ใส่เดือนละ ๓ ครั้ง สำหรับ ประโยชน์ที่ได้ลดต้นทุนในการผลิตยางพารา โดยใช้แทนปุ๋ยเคมี ปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดีขึ้น เหมาะสมแก่การปลูกพืช ช่วย รักษาสภาพแวดล้อม ทำให้เปลือกยางพารานิ่ม กรีดง่าย และใช้ทาหน้ายางเพื่อรักษาโรคหน้ายางตายนึ่ง และนี่ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่มีราคาแพง และยังเป็นการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อโดยตรงได้ที่ ลุงสุริยา เพชรเกษม หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๒- ๒๗๒๗๙๘๗

ข้อมูลจาก :: เสรี นาวงศ์ ส.ปชส.พังงา

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นประโยชน์อย่างมากครับ

    สงสัยนิดหนึ่งคือ ที่ว่า .."ใช้น้ำหมักเข้มข้นใส่ถ้วยรับน้ำยาง เมื่อไป กรีดครั้งต่อไปก็จะเทน้ำหมักที่ผสมน้ำแล้ว ในถ้วยรับน้ำยางลงในแปลงยางพารา"

    หมายถึงการน้ำไปหยอดแทนน้ำกรด ใช่หรือไม่

    เพราะอ่านสามรอบแล้วแต่ไม่เข้าใจชัดแจ้ง

    ต้องการข้อมูลส่วนนี้ไปปฏิบัติเอง เพราะเป็นคนทำสวนอยู่ และได้เขียนเรืองราวการทำสวนยางเพื่อบันทึกไว้ที่ บล็อก http://para-buy.blogspot.com ไว้ด้วย

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ9 กันยายน 2558 เวลา 14:05

    นำน้ำหมักใส่ในถ้วยรับน้ำยางก่อนที่จะกรีดครั้งต่อไป วิธีนี้ใช้ไปผสมได้เฉพาะหน้าฝน ที่มีน้ำฝนอยู่ในถ้วยรับน้ำยางอยู่แล้ว น้ำหมักก็จะกับน้ำในถ้วยรับน้ำยางพอดี ประมาณนี้ค่ะ

    ตอบลบ

ความคิดเห็นทั่วไป