วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

หอการค้าจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ เสนอรัฐบาลแก้ปัญหาอุทกภัย

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 นายสมชาย ตันติเพชราภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า จากการได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ จัดโดยหอการค้าไทย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ คือ เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ทั้งในระยะเร่งด่วน และในระยะยาว ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทำให้ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก เกิดสภาวะน้ำท่วมบ้านเรือน น้ำท่วมย่านธุรกิจ และพื้นที่ทางการเกษตร ตลอดจนเส้นทางคมนาคมหลายเส้นทางไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ซึ่งในการประชุมฯ ทางตัวแทนหอการค้าจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ช่วยกันระดมความคิดเห็นถึงมาตรการในการฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัย โดยแยกเป็นมาตรการเร่งด่วนสรุปก่อนนำเสนอกับรัฐบาลต่อไป คือ 1.ให้รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้เฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูสำหรับภาคธุรกิจ โดยผ่านธนาคารของภาครัฐ โดยให้งดเว้นการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นให้กรรมการบริษัทเป็นผู้ค้ำประกันแทน 2. เร่งรัดการให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทน ให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่โดยเร็ว ภายใน 1 เดือน 3. การปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานจากเงินกองทุนประกันสังคม 4. ให้จัดสรรเงินช่วยเหลือเกษตรกร(รายย่อย) ในกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และ ข้อ 5. ให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาสั่งการให้การงดเว้นภาษีของท้องถิ่น อาทิ ภาษีโรงเรือน ที่ดิน ภาษีป้าย สำหรับมาตรการระยะยาว คือ ให้ทำการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยภาคใต้ ในประเด็น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตร, แม่น้ำลำคลองตื้นเขิน, การสร้างฝายเก็บน้ำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง, การสร้างถนนขวางเส้นทางไหลของน้ำ โดยไม่มีการทำทางน้ำลอด, การถมทางเพื่อเข้าอยู่ที่อาศัยของราษฎร(ขวางทางน้ำ), การรายงานข่าวของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ไม่ชัดเจน ในการพยากรณ์อากาศ การเกิดพายุ การเกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถรับข้อมูลข่าวสารที่แน่ชัดและรวดเร็ว การเสนอข่าวที่ไม่ชัดเจนทำให้ประชาชนรับข้อมูลคาดเคลื่อน มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จากทั้งให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง อาทิ ข่าวลือการเกิดสึนามิ เป็นต้น

ประธานหอการค้าจังหวัดพังงา เผยอีกว่า นอกจากนี้ ตัวแทนหอการค้าจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ยังได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลนำไปพิจารณา คือ เสนอเรื่องจัดให้มีการศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ โดยบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เสนอให้รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติในการวางแผนป้องกันภัยพิบัติ เสนอให้มีการจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการป้องกันอุทกภัยในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และ เสนอให้มีการจัดทำโมเดลจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ การเกิดอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยง การพยากรณ์ระดับน้ำ และแจ้งเตือนภัยในทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลอย่างรวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป