วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ สุสาน สึนามิ ให้สำนักงานตำรวจภาค 8


เมื่อเวลา 09.00 น. ที่บริเวณสุสานผู้ประสบภัย สึนามิศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับบ้านบางมรวน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยมี พ.ต.อ.ชำนาญ ชำนาญเวช ผบก.กลุ่มงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบอาคารที่ทำการศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์และการส่งกลับ บ้านบางมรวน ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ให้กับ นายธำรงค์ เจริญกุล ผวจ.พังงา พล.ต.ต.อภิรักษ์ หงษ์ทอง ผบก.อก.ภาค8 จว.สุราษฎร์ธานี(จังหวัดพังงา), พล.ต.ต.ชลิต ถิ่นธานี ผบก.ภ.จว.พังงา, พ.ต.อ.วรวิทย์ ปานปรุง และ พ.ต.อ.เชิดศักดิ์ บุญนัดดา และ พ.ต.อ.ฉัฐวัชร์ เทวาหุดี รองผบก.ภ.จว.พังงา, พ.ต.อ.ธรัฐชา ถมปัทม์ ผกก.สภ.ตะกั่วป่า, พ.ต.ท.ประภาส พลรบ และ พ.ต.ท.เสริมศักดิ์ พ่วงพิศ รองผกก. สภงตะกั่วป่า, พ.ต.ท.อัครเดช ศุกระกาญจน์ สวป., นายประสิทธิ์ สถาพรจตุรวิทย์ ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35, นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา, นายศิริพัฒ พัฒกุล นายอำเภอตะกั่วป่า, นายทิวาโชค ทศไพรินทร์ นายกอบต.บางนายสี และกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ-อาสาสมัครหน่วยกู้ภัยต่างๆ นักเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 ร่วมพิธีมอบอาคารสึนามิดังกล่าว

นายธำรงค์ เจริญกุล ผวจ.พังงา กล่าวว่า สำหรับอาคารดังกล่าวเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ดูแลกันมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ต่อไปนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจภาค 8 และส่งต่อให้กับตำรวจภูธรพังงา เป็นผู้ดูแลต่อไป โดยจังหวัดพังงาจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันดูแล เช่น สาธารณสุขอำเภอตะกั่วป่า เป็นต้น และจะได้พัฒนาให้เป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมบางอย่างในพื้นที่ หรือเพื่อให้ญาติๆของผู้ที่เสียชีวิตได้มาร่วมกันรำลึกที่นี่กันต่อไป

ทางด้าน พล.ต.ต.ชลิต ถิ่นธานี ผบก.ภ.จว.พังงา กล่าวว่า นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบให้กับตำรวจภูธรพังงาดูแล ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าจังหวัดพังงาสามารถดูแลได้ด้วยศักยภาพที่ดี ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ที่หนึ่งที่ได้ร่วมกันให้ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตได้มาร่วมรำลึกหรืออาจเป็นแหล่งเที่ยวในอนาคตอีกแห่งต่อไป ส่วนทางด้าน นายทิวาโชค ทศไพรินทร์ นายก อบต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สถานที่นี้ น่าจะเป็นสถานที่เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ให้กับชนรุ่นหลัง หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะมีแห่งเดียวในประเทศไทย เรามีกลุ่มมัคคุเทศก์น้อย สามารถนำนักท่องเที่ยวเที่ยวสถานที่เหล่านี้ได้ หากแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ต้องให้ความสนใจและดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้ด้วย เพราะที่นี่ถูกทอดทิ้งไว้เป็นเวลานานกว่า 6 ปีแล้ว

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ หรือที่เรียกว่าอาคารสึนามิบ้านบางมรวน แห่งนี้ เป็นสถานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้รวมทั้งสิ้น 3,276 ราย ต่อมาได้มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้ดำเนินการต่อในลักษณะตามแบบวิธีสากลของตำรวจสากล(Interpol) และสามารถพิสูจน์ยืนยันผู้เสียชีวิตได้เพิ่มอีก 58 ราย รวมทั้งสิ้น 3,334 ราย แยกเป็นชาวไทย 1,353 ราย ต่างชาติ 1,980 ราย และไม่ทราบสัญชาติอีก 1 ราย คงเหลือศพในสุสานที่อยู่ระหว่างการแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม 373 ราย

ข้อมูลจาก...อย้าโกบ หอมรสกล้า ผู้สื่อข่าวพลังชนจังหวัดพังงา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป